เราเชื่อว่าความชรามีสาเหตุ
ในเวชศาสตร์แพทย์แผนปัจจุบัน (Conventional or Traditional Medicine) เราเริ่มจากการหาสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เหล่านั้น และพยายามแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่นในอดีตมนุษยชาติเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเราเริ่มค้นพบเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ก็นำมาซึ่งการรักษาได้แก่ ยาฆ่าเชื้อโรค การป้องกันโรค ได้แก่ ระบบสุขภาพอนามัย การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ในหลักของเวชศาสตร์ชะลอวัย เราก็คิดแบบเดียวกันว่าความเสื่อมและความชราน่าจะต้องมีต้นเหตุด้วยเช่นเดียวกัน
หากความชรา หรือความเสื่อมเป็นเรื่องของธรรมชาติ เหตุใดหลาย ๆ คน ที่มีอายุเท่า ๆ กัน เช่น 65 ปีเท่ากันบางคนแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่ชัดเจนใด ๆ บางคนเป็นเบาหวาน บางคนเป็นความดันโลหิตสูง บางคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเสื่อม บางคนเป็นโรคกระดูกเสื่อม บางคนเป็นโรคสมองเสื่อม บางคนเป็นมะเร็ง นั่นแสดงว่าต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมที่ไม่เท่ากัน
สาเหตุความเสื่อมและชราภาพ
ในเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น ได้เริ่มมีการศึกษาสาเหตุของความเสื่อมหรือชราไว้มากมายหลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีและสาเหตุที่ได้รับการยอมรับและพิสูจน์แน่ชัดแล้วในปัจจุบัน ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความเสื่อมและความชรานั้นได้แก่
อนุมูลอิสระและสารแอนติออกซิแดนท์ (Free Radicals and Antioxidants) (Denham Harman, 1992) (Ron Kohen and Abraham Nyska, 2002) ทฤษฎีนี้แพร่หลายมานาน และเราก็รู้ว่าอนุมูลอิสระนั้นก่อให้เกิดความเสื่อม ความชราของเซลล์ รวมไปถึงการกลายพันธุ์เป็นมะเร็งอีกด้วย ดังนั้น การหลีกเลี่ยงอนุมูลอิสระ และส่งเสริมสารแอนติออกซิแดนท์ก็เป็นแนวทางสำหรับการชะลอความเสื่อมนั่นเอง
ไกลเคชัน (Glycation) (Xu Song et al, 1999) เป็นเรื่องของระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นบ่อย ๆ จากพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลแล้วทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว (High Glycemic Index) จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของร่างกาย
การอักเสบ (Inflammation) (Cziszar et al, 1985) (Chung HY et al, 2006) เราพบว่าโรคเสื่อมต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเสื่อม โรคสมองเสื่อม โรคข้อเสื่อม เกิดจากการอักเสบเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดเวลา ซึ่งกลไกการต้านการอักเสบที่สำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ การบริโภคกรดไขมันที่จำเป็นชนิดโอเมก้า 3 และลดการบริโภคกรดไขมันที่จำเป็นชนิดโอเมก้า 6 เพราะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเสื่อมด้วยเช่นกัน
สารพิษและสารโลหะหนัก (Toxins and Heavy Metals) แนวคิดนี้แตกต่างจากแพทย์แผนปัจจุบันตรงที่ หากสารพิษหรือสารโลหะหนักนั้นมีระดับสูงมาก ๆ จนเกิดอาการต่าง ๆ จึงจะถือว่าเป็นภาวะที่ต้องแก้ไข แต่ในเวชศาสตร์ชะลอวัยเราถือว่า แม้จะมีในระดับน้อย ๆ ที่ยังไม่เกิดอาการใด ๆ ชัดเจน ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการกำจัดออก หรือขบวนการที่สนับสนุนการล้างพิษของร่างกายให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
ภาวะกรดด่างในร่างกาย (Acid-Base Imbalance) (Minich et al,2007) ทฤษฎีนี้กล่าวเกี่ยวกับภาวะสมดุลของร่างกายคือภาวะด่างอ่อน ๆ เซลล์ภูมิคุ้มกันและเซลล์ต่างๆ จะแข็งแรงทำงานได้ดี แต่ในภาวะที่เป็น กรด เซลล์เหล่านั้นจะทำงานได้แย่ลง ในขณะเดียวกันเซลล์มะเร็งจะเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
ฮอร์โมน (Thierry Hertoghe, 2010) ในทฤษฎีนี้ เราเชื่อว่าเมื่อระดับฮอร์โมนลดลงทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมและความชรา มิใช่เป็นเพราะว่าเราแก่ชราแล้วจึงทำให้ระดับฮอร์โมนลดลงแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การสนับสนุนส่งเสริมวิถีชีวิตใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติให้ลดลงอย่างช้า ๆ ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ รวมไปถึงหากเรามีภาวะถดถอยของฮอร์โมนในร่างกายตามวัยแล้วนั้น การให้ฮอร์โมนชดเชยเสริมแบบธรรมชาติ ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงการชะลอความเสื่อมของหลาย ๆ อวัยวะอีกด้วยเช่นกัน
ในเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น เราเชื่อว่าแม้อวัยวะต่าง ๆ จะต้องเกิดความเสื่อมตามอายุ หรือทุก ๆ คนจะต้องชราภาพ แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมหรือชราภาพนั้น ๆ มีไม่เท่ากันก็จะเกิดความเสื่อมหรือความชราภาพที่ไม่เท่ากัน หากเราป้องกันหรือลดสาเหตุต่าง ๆ ของความเสื่อมและชราภาพนั้นลงได้ก็จะชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บหรือโรคเสื่อมต่าง ๆ นั่นเอง การลดปัจจัยหรือสาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะทำให้เซลล์หรืออวัยวะนั้น ๆ อยู่ในสภาพที่เรียกว่าภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal Health) ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของเวชศาสตร์ชะลอวัย
ภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal health) คืออะไร
ภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal Health) คือภาวะที่ร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมในทุก ๆ ด้าน (เช่น สารอาหาร สารฮอร์โมน สารต้านอนุมูลอิสระมีมากที่สุด และสารพิษ สารอนุมูลอิสระที่อันตรายมีน้อยที่สุด) ที่จะทำให้การทำงานของเซลล์ทุกเซลล์ และทุกระบบทำงานได้ตามปกติ และไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น เราเชื่อว่าที่จุดนี้ เซลล์ของเราไม่เพียงแต่จะมีความสามารถในการทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่จะมีความสามารถและกลไกในการปกป้องและซ่อมแซมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ชะลอความเสื่อม ความชรา และรวมไปถึงความสามารถในการป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย
ภาพที่ 1 แผนภาพอธิบาย Anti-Aging Medicine “20,000-200,000 Concepts”
สมมติว่า ประเทศไทยทำการประเมินว่ารายได้ระดับใดที่จัดว่าจน ปานกลาง และรวย โดยการสุ่มสำรวจประเมินรายได้ประชากรทั่วไป และเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน แล้วจัดระดับตามเกณฑ์ดังนี้
- รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ถือว่าจน, ลำบาก, ปัจจัย 4 ที่จำเป็น อาจจะได้ไม่ครบสมบูรณ์ในภาวะปัจจุบัน
- รายได้ในช่วง 20,000-200,000 บาท ถือว่าปานกลาง
- รายได้ที่เกินกว่า 200,000 บาท ถือว่ารวย
ภาวะต่ำกว่าสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Sub-optimal health) มีความสำคัญอย่างไร
ภาวะต่ำกว่าสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Sub-optimal health) ในด้านใดบ้าง?
ในเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพนั้น เราพิจารณาระดับของสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ให้มีภาวะสมดุลปกติ (Normal Homeostasis) อันได้แก่ปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ระดับสารอาหารในเลือด (Nutritional Level)
- ระดับฮอร์โมนในร่างกาย (Hormonal Level)
- ระดับสารอนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ (Free Radicals and Anti-Oxidant Level)
- ระดับสารพิษและโลหะหนักต่าง ๆ ในร่างกาย (Toxins and Heavy Metals)
- ระดับค่าการอักเสบต่าง ๆ ของร่างกาย (Inflammatory Markers)
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรามีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal health) หรือไม่?
ในหลักการของเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น เราสามารถที่ตรวจภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุดของร่างกายเราในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น
- การตรวจหาระดับสารอาหารวิตามินและเกลือแร่ในเลือด (Vitamin and Minerals Analysis)
- การตรวจหาระดับกรดอะมิโนในเลือด (Amino Acid Analysis)
- การตรวจหาระดับกรดไขมันจำเป็นในเลือด (Essential Fatty Acid Analysis) เช่น Omega3, Omega6
- การตรวจผลของอนุมูลอิสระที่มีต่อร่างกายและสารต้านอนุมูลอิสระ (Free Radical Damages and Antioxidant Status) ได้แก่ OxLDL, 8OH-dG, Allantoin, Carbonyl Protein, MDA, Glutathione Activity
- การตรวจหาภาวะการอักเสบของร่างกาย (Inflammatory Markers) ได้แก่ hsCRP
- การตรวจหาสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitters test)
- การตรวจปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดเสื่อม (Secondary Risk Factors for Cardiovascular Disease) ได้แก่ Homocysteine, Lipoprotein a, Fibrinogen, Ferritin
- การตรวจปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน (Telopeptide test) เช่น DPD, PYD, NTX, CTX
- การตรวจภาวะการรั่วซึมของลำไส้ (Malabsorption Test: Lactulose-Mannitol test)
- การตรวจสารออร์กานิคในปัสสาวะ (Urine Organic Acid)
- การตรวจอุจจาระแบบสมบูรณ์ (Comprehensive Diagnostic Stool Analysis)
- การตรวจหาขนาดของไลโปโปรตีนในเลือด (LDL Particles Size)
- การตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตับอ่อนก่อนการเป็นเบาหวาน ได้แก่ Adiponectin, Peptide C
- การตรวจภาวะค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C: Glycosylated Hemoglobin) ซึ่งปกติใช้ในคนที่เป็นเบาหวานแล้ว เพื่อดูพฤติกรรมการควบคุมน้ำตาลในเลือดในช่วงอดีต 3 เดือนที่ผ่านมา แต่การแปลผลนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- การตรวจระดับอินซูลินในเลือดในช่วงงดอาหาร (Fasting Insulin) เพื่อดูภาวะดื้ออินซูลิน
- การตรวจหาระดับฮอร์โมนในเลือด
ความแตกต่างของค่าปกติทางสถิติ (Statistical Norms) และค่าปกติของการทำงานจริง (Physiological or Optimal Norms)
ภาพที่ 2 แสดงการกระจายของข้อมูลแบบกราฟระฆังคว่ำ
และหากเปรียบเทียบกับการตรวจประเมินทางสุขภาพแล้ว ก็จะคล้ายกันกล่าวคือ คนที่อยู่ในเกณฑ์สุขภาพแย่ (Means – 2 S.D.) ก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค (Diseases) แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ ก็จะถือว่าปกติ (ทางสถิติ) และในกลุ่มคนที่อยู่ทางตอนขวาสุด (Means + 2 S.D.) ก็น่าจะจัดได้ว่าเป็นคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal Health) นั่นเอง นั่นคือ ถึงแม้ว่าเราจะมีผลการตรวจสุขภาพโดยรวมที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะอยู่ในกลุ่มของการมีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุดเช่นกัน
ค่าปกติเช่นนี้ เราเรียกว่าค่าปกติทางสถิติ (Statistical Norms) ซึ่งถึงแม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีคุณภาพดีที่สุด กล่าวคือ แม้คะแนนของนักเรียนจะอยู่ในเกณฑ์สอบผ่าน ไม่ตก ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความรู้ ความสามารถอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ นั่นหมายถึงว่า ถึงแม้ว่าการตรวจสุขภาพของเราอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ป่วย ก็อาจจะไม่ได้แปลว่าจะมีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุดเช่นกันนั่นเอง
ดังนั้น จึงมีการกำหนดค่าปกติทางสรีรวิทยา หรือทางการทำงาน (Physiological or Optimal Norms) คือหมายความว่าค่าระดับคะแนนใดที่นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการประเมินนั้น ๆ ได้ดีที่สุด หรือค่าการตรวจทางสุขภาพใดที่น่าจะอยู่ในภาวะที่ทำงานได้ดีที่สุด และไม่มีภาวะบกพร่องหรือภาวะมากเกินไปของการทำงานนั้น ๆ เช่น การประเมินภาวะการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำในทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น เราใช้ค่า TSH ที่มากกว่า 4 mIU/L (ซึ่งค่านี้ ได้จากการคำนวณโดยวิธีดังกล่าว) ซึ่งจัดเป็นค่าปกติทางสถิติ (Statistical Norms) แต่เมื่อเรานำคนไข้มาสอบถามอาการของไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ แล้วเจาะเลือดหาค่า TSH จะพบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีระดับของ TSH น้อยกว่า 1.9 mIU/L แทบจะไม่มีกลุ่มอาการของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำเลย และรวมไปถึงไม่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนทำงานเกินด้วย แสดงว่าค่า TSH ที่จัดว่าเป็นค่าปกติในการทำงาน หรือค่าปกติทางสรีรวิทยา (Physiologic Norms) ก็คือ ไม่ควรเกิน 2 mIU/L นั่นเอง ซึ่งค่านี้จึงจัดว่าเป็นค่าสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal Level) นั่นเอง (Holowell JG et al, 2002)
ศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพจึงมีจุดประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพให้อยู่ในภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด ดังนั้น ในคนที่มีผลการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการโดยทั่วไปเป็นปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ในภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุดเสมอไป ในหลายคนที่มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือรู้สึกว่าสมรรถภาพของร่างกายแย่ลง ไม่ดีเท่าแต่ก่อน แต่ตรวจร่างกายแล้วไม่พบเจอโรคใด ๆ ที่ชัดเจน หรืออธิบายด้วยศาสตร์ของแพทย์แผนปัจจุบันได้ ก็อาจจะอยู่ในภาวะที่ไม่ใช่ภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุดดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น การตรวจด้วยวิธีการในแบบของเวชศาสตร์ชะลอวัย หรือการตรวจหาการทำงานที่ผิดปกติ (Functional testing) ก็อาจจะเจอคำตอบของปัญหาดังกล่าว และนำพาไปสู่การแก้ไขเพื่อให้มีภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุดอีกครั้งหนึ่งได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ตรงประเด็นเช่นกัน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าบางคนจะตรวจพบว่าสุขภาพแย่ลง จนถึงขนาดได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งไปแล้ว การรักษาในแนวทางของแพทย์แผนปัจจุบัน อาจจะไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรคจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่จะรักษาที่ปลายเหตุก่อน ก็อาจจะทำให้ปัญหาเหล่านั้นยังคงอยู่ หรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง เช่น
ปัญหาความดันโลหิตสูง ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ก็จะใช้ยาลดความดัน ที่มีกลไกแตกต่างกันไป แต่กลไกหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค ก็คือ ความไม่สมดุลของอนุมูลอิสระและสารแอนติออกซิแดนท์ที่นำพาไปสู่ความไม่สมดุลของสารสื่อการอักเสบพอสตราแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว และนำไปสู่ความดันโลหิตสูง
ปัญหาการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ คือพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต แป้งและน้ำตาลมาก ๆ และสูง ๆ อยู่เป็นเวลานาน ๆ และนำไปสู่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีภาวะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดผิดปกติ และภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic X Syndrome) ซึ่งหากเรารักษาเฉพาะเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง และความอ้วน โดยที่ปัจจัยที่นำไปสู่ต้นเหตุที่แท้จริงนั้น ก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างสมบูรณ์เช่นกัน ซึ่งการแก้ไขภาวะดื้ออินซูลินนั้นได้แก่ การควบคุมพฤติกรรมการบริโภค การปรับสมดุลสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน อาหารเสริมหลายชนิดที่กระตุ้นการรับรู้ของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Sensitivity) และการออกกำลังกาย เป็นต้น ดังนั้น การนำเอาความรู้และวิธีการปฏิบัติในแนวทางของเวชศาสตร์ชะลอวัยไปใช้ในภาวะโรคต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็จะนำไปสู่การรักษาทั้งปลายเหตุและต้นเหตุได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น ในลักษณะนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่าการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยจะเป็นการแพทย์ผสมผสาน (Integrative Medicine) คือผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพที่สูงที่สุดนั่นเอง
เวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น ทำอะไรกันบ้าง
ภาวะโภชนาการ (Eating Habits & Nutrition) ที่มีความหมายรวมตั้งแต่ ควรทานอะไร (หมายรวมไปถึงคุณสมบัติของสารอาหารแต่ละชนิด ปริมาณ และสัดส่วนของสารอาหารนั้น ๆ ด้วย) ทานอย่างไร (การเคี้ยว การย่อย กรรมวิธีการปรุงอาหาร ภาชนะบรรจุหรือปรุงอาหาร) และทานเวลาใด ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และส่งผลต่อสุขภาพได้เท่าเทียมกันทั้งสิ้น
สารเสริมอาหาร (Supplements) ควรเลือกเสริมอย่างไร ในรูปแบบใด ปริมาณเท่าไร และการบริโภคอย่างปลอดภัยต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง จะหลีกเลี่ยงสารปนเปื้อนที่ปนมาได้อย่างไร บริโภคไปนานเท่าไร และจะมีการวัดประเมินผลที่ดีขึ้นได้อย่างไร
การนอน (Sleeping) นอนอย่างไร นอนเวลาใด ระยะเวลาที่เหมาะสมในการนอนของแต่ละคน แต่ละวัยเป็นอย่างไร การจัดสิ่งแวดล้อมในการนอนให้ถูกสุขลักษณะที่สมบูรณ์สูงสุดต้องทำอย่างไร คุณภาพของการนอนที่ดีเป็นอย่างไร หากมีปัญหานอนไม่หลับจะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องอย่างไร ฯลฯ
การออกกำลังกาย (Exercise) การเลือกรูปแบบใดที่เหมาะสมกับตน ซึ่งจะดูตามสภาวะยีนการสร้างกล้ามเนื้อของแต่ละบุคคล ตามสภาวะฮอร์โมน หรือความเครียด ตามสภาวะสุขภาพในช่วงนั้น ๆ รวมไปถึงควรจะต้องออกกำลังกายในเวลาใด ระยะเวลาในการออกกำลังกายในแต่ละครั้งควรเป็นเท่าใด มีความถี่ห่างแค่ไหน ฯลฯ
ความเครียด (Stress and relaxation) เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมและชรา รวมถึงเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอีกหลากหลายโรค ซึ่งความเครียดนี้นั้นคนส่วนใหญ่จะนึกถึงความเครียดทางจิตใจ ได้แก่ ปัญหาครอบครัว การงาน การเงิน สุขภาพ เป็นต้น แต่ความเครียดทางกายก็พบว่าเป็นต้นเหตุที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และมักจะถูกละเลยเนื่องจากความไม่รู้และไม่ตระหนักนั่นเอง ซึ่งได้แก่ การนอนดึก การไม่ทานอาหารเช้า การทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ดูดซึมเป็นน้ำตาลได้เร็ว (High Glycemic Index Food) การทำงานหนักหักโหม การติดเชื้อแฝงเร้นเช่น ฝีที่โพรงประสาทรากฟัน (Root Abscess) ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง (Ig G Food Allergy and Food intolerance) เป็นต้น ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับสมดุลความเครียดเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน
ภาวะฮอร์โมนแปรปรวน (Hormonal Imbalance) เราพบว่าฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต ความเสื่อม และความชรา ดังนั้น หากเราเรียนรู้ที่จะส่งเสริมปัจจัยวิถีชีวิตต่าง ๆ ทีส่งผลต่อการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของฮอร์โมน และลดปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนทำงานได้แย่ลง ก็จะทำให้ความสมดุลของฮอร์โมนดีที่สุดตามวัยนั้น ๆ และเช่นเดียวกันหากในวัยที่ระดับฮอร์โมนลดลงแล้ว การให้ฮอร์โมนเสริมแบบธรรมชาติ (Bio-Identical Hormonal Replacement Therapy-BHRT) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญของเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วยเช่นเดียวกัน
สารพิษ มลพิษมลภาวะของสิ่งแวดล้อม (Environmental toxicology) ในเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้นเราตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่างมาก เพราะความเจริญของมนุษย์ก็นำมาซึ่งการเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บแปลก ๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเราหมายรวมไปถึง มลภาวะทางน้ำดื่ม อากาศที่หายใจ ยาฆ่าแมง ยาปราบศัตรูพืช สารเคมี น้ำหอม เครื่องสำอาง ภาชนะเครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งบ้าน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่พบในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เรดาร์ คลื่นวิทยุ และรวมไปถึงสารกัมมันตภาพรังสีทางธรรมชาติเช่น เรดอน หรือสารตามธรรมชาติเช่น โลหะหนัก เป็นต้น ว่าเราควรจะมีหลักในการระมัดระวัง การใช้ชีวิต การเลือกใช้สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้แบบใดที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน
การล้างสารพิษ (Detoxification) จึงเป็นอีกขบวนการหนึ่งที่จะช่วยขจัดสารพิษ และมลพิษที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหมายรวมไปถึงการล้างสารพิษที่ตับ (Liver Detoxification) การออกกำลังกาย และเซาวน่า (Sauna) การขจัดสารโลหะหนักในร่างกาย (Chelation) ออกด้วย เป็นต้น
สเต็มเซลล์ (Stem Cells) ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังของร่างกายที่เกิดการเสื่อมโทรมและทรุดสภาพลงไปแล้ว ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีใดที่จะรักษาความเสื่อมได้อย่างเห็นผล และแน่นอนว่าถึงแม้จะดูแลในแนวทางของเวชศาสตร์ชะลอวัยดังในวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็อาจจะไม่มีผลกับเซลล์ที่ตายหรืออวัยวะที่เสื่อมสภาพไปแล้วด้วยเช่นเดียวกัน สเต็มเซลล์จึงมีการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต ในการที่จะเป็นความหวังหรือหนทางใหม่ให้กับการแก้ไขความเสื่อมเหล่านี้ และจัดอยู่ในศาสตร์ที่เรียกกันว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ (Regenerative medicine) ซึ่งแตกต่างจากเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine) หรือที่รู้จักกันดีในนามของกายภาพบำบัดด้วยเช่นกัน
เวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic Medicine) ก็มีบทบาทเกี่ยวกับการทำให้ร่างกายภายนอกแลดูสดใส และอ่อนกว่าวัย ซึ่งในศาสตร์แขนงนี้ก็มีตั้งแต่การฉีดหรือใช้เข็ม เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ร้อยไหม การใช้เลเซอร์ต่าง ๆ การศัลยกรรมความงาม เป็นต้น
การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) ก็มีบทบาทมาผสมผสานกับศาสตร์แขนงนี้ได้ด้วยเช่นกัน ดังจะกล่าวในเนื้อหาถัดไป
ความแตกต่างของเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) การแพทย์ผสมผสาน (Integrative Medicine) การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) สมุทัยเวชศาสตร์ (Functional Medicine)
ภาวะลำไส้รั่วซึม (Leaky Gut Syndrome) ภาวะนี้พบว่ามีการรั่วซึมของผนังเซลของลำไส้ในแต่ละเซล โดยที่ลักษณะทางกายภาพของลำไส้ยังคงปกติ เมื่อตรวจด้วยการส่องกล้อง กลืนแป้ง ฉายแสง ก็ไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อตรวจการทำงาน (Functional testing) ดูการดูดซึม (Absorption) และการซึมผ่านของผนังเซล (Permeability) ด้วยการทดสอบที่ชื่อว่า Lactulose-Mannitol test แล้วก็จะพบว่ามีลักษณะการทำงานที่ผิดปกติไปจากการทำงานปกติ (Healthy tissue) ซึ่งภาวะนี้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งในลำไส้และนอกลำไส้ เช่นภาวะภูมิคุ้มกันทำงานแปรปรวน ภูมิแพ้ต่าง ๆ ผื่นแพ้ต่าง ๆ สิวเรื้อรังในผู้ใหญ่ โรคอ้วน สมาธิสั้น เป็นต้น ดังนั้น หากการรักษาภาวะเหล่านั้นตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ก็จะเป็นการแก้ไขที่ปลายทาง โดยที่ต้นเหตุที่แท้จริงที่ลำไส้ ไม่ได้ถูกแก้ไขนั่นเอง
ภาวะการกำจัดสารพิษที่ตับบกพร่องหรือทำงานมากเกินไป (Liver Detoxification) จะส่งผลให้สารเคมี ยา หรือสารพิษบางอย่างถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ช้าหรือเร็วเกินไป ก็จะส่งเสริมให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษของสารเคมี หรือยาเหล่านั้น หรืออาจจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถทำการตรวจการล้างสารพิษของตับในขั้นตอนต่าง ๆ ว่าน้อยหรือมากเกินไป ด้วยขบวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการชนิด Functional testing ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
การตรวจอุจจาระแบบสมบูรณ์ (CDSA-Complete Diagnostic test for Stool Analysis) เป็นการตรวจอุจจาระที่แตกต่างจากการตรวจอุจจาระแบบทั่ว ๆ ไปของระบบแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ดูเพียงว่ามีเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง หรือพยาธิในอุจจาระหรือไม่ แต่การตรวจการทำงานแบบสมบูรณ์นี้สามารถที่จะบอกได้ว่า ขบวนการย่อยและการดูดซึมของทางเดินอาหารตลอดเส้นทางตั้งแต่กระเพาะอาหารมาจนถึงลำไส้ใหญ่มีความผิดปกติในการทำงานที่ส่วนใดบ้าง โดยดูจากสิ่งที่หลงเหลือมาในอุจจาระที่เกิดจากการย่อยไขมัน การย่อยโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ หรือการตรวจสารที่หลั่งจากเม็ดเลือดขาว (Calprotectin) ซึ่งจะบอกได้ถึงการมีภาวะอักเสบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร อันจะนำไปสู่การส่องกล้องตรวจรักษาเพิ่มเติม หรือดูสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ที่จะแสดงถึงภาวะเสียสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (Dysbiosis) หรือตรวจดูการหลั่งของน้ำย่อยจากตับอ่อนว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยดูจากปริมาณน้ำย่อย Elastase ซึ่งพบเฉพาะจากตับอ่อนมนุษย์เท่านั้น และไม่มีผลการรบกวนจากน้ำย่อยที่เป็นสารเสริมอาหาร หรือภาวะท้องผูกหรือท้องเสียเลย เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหลักการตรวจวินิจฉัยในเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น ได้นำเอาส่วนหนึ่งของศาสตร์การทำงานที่ผิดปกติ (Functional medicine) มาใช้ เพื่อช่วยในการค้นหาภาวะความผิดปกติต่าง ๆ อย่างรวดเร็วก่อนที่จะเป็นโรค (Early Detection) เพื่อนำไปสู่ขบวนการแก้ไขและป้องกันก่อนที่จะเสียหายไปมากยิ่งขึ้นนั่นเอง (Early Intervention)
ภาพที่ 3 แสดงความแตกต่างของเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) การแพทย์ผสมผสาน (Integrative Medicine) การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) สมุทัยเวชศาสตร์ (Functional Medicine)
การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) (วิกิพีเดีย, 2559) หมายถึงศาสตร์ของขบวนการรักษาโรคเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้ว (กล่าวคือ มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแล้ว) แต่ไม่ใช่แนวทางการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์หรืออธิบายได้ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็หลักการของแต่ละศาสตร์และมีการใช้ในการรักษาและได้ผลจนเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคนไข้หรือแพทย์ผู้รักษาอาจจะใช้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมนอกเหนือจากการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือเลือกรักษาแต่แพทย์ทางเลือกอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งศาสตร์เหล่านี้บางอย่างก็อาจจะมีพื้นฐานจากระบบความเชื่อตามชาติพันธุ์ดั้งเดิม ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี พลังเหนือธรรมชาติ ได้แก่
- ศาสตร์การแพทย์โฮมีโอพาธี (Homeopathy) เป็นศาสตร์การแพทย์โบราณของยุโรป แต่ซบเซาไปเมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเติบโตมากขึ้น และมีการใช้อย่างแพร่หลายมากในประเทศอินเดีย ต่อมาในปัจจุบัน ยุโรปก็กลับมานิยมกันอีกครั้ง หลักการก็คือหาสิ่งที่เหมือนกันไปรักษาหรือทำลายล้างสิ่งที่เหมือนกัน เช่นตัวอย่างหนึ่งของศาสตร์นี้ที่หลายคนคงคุ้นเคยก็คือ เอาพิษของงูมาทำเป็นเซรุ่มรักษาพิษงู เป็นต้น
- การแพทย์ธรรมชาติบำบัด (Naturopathy) (วิกิพีเดีย, 2559) (Joseph E. Pizzoro, 2012) ที่เน้นการบำบัดรักษาโดยวิธีที่เป็นธรรมชาติและความเชื่อที่ว่าร่างกายมีความสามารถในการบำบัดรักษาตนเอง ปรัชญาของธรรมชาติบำบัดนิยมใช้การรักษาโดยวิธีรักษาแบบองค์รวม (Holistic health) และการลดการใช้ศัลยกรรมและยาในการรักษา ซึ่งการดูแลสุขภาพด้วยวิธีทางธรรมชาติบำบัดนี้ มีในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การทานอาหารตามแนวทางธรรมชาติ ไปจนถึงการใช้วิถีชีวิตต่าง ๆ เช่น ดีท็อกซ์ อโรมาเธอราปี โยคะ สมุนไพร สปา การนวด การฝังเข็ม ชี่กง สมาธิ เป็นต้น
- การจัดกระดูก (Chiropractic)
- การแพทย์พลังงาน (Energy Medicine)
- การแพทย์แผนไทย
- การฝังเข็ม (Acupuncture)
- การแพทย์แผนจีน
- การรักษาตามวามเชื่อของคริสเตียน
- การแพทย์เสริม (Complementary Medicine) (วิกิพีเดีย, 2559) เป็นการแพทย์ทางเลือกที่นำมาใช้เสริมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ในต่างประเทศ นิยมเรียกการแพทย์ทางเลือกและการแพทย์เสริมรวม ๆ ไปพร้อมกันว่า การแพทย์ทางเลือกและเสริม (Complementary Alternative Medicine-CAM)
- การแพทย์ผสมผสาน (Integrative Medicine) (วิกิพีเดีย, 2559) (David Rakel et al, 2012) จึงหมายถึง การรวมกันของวิธีปฏิบัติและวิธีการของการแพทย์ทางเลือกกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้มีสุขภาพชีวิต หรือคุณภาพชีวิต (Quality of Life) ที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการรวมกันของศาสตร์ของแพทย์ทางเลือกดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังอาจจะหมายรวมไปถึงทั้งเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) ด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป เวชศาสตร์ชะลอวัย คือ
- การนำความรู้ทางด้านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลให้เกิดภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด ที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
- การใช้เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ใหม่ ๆ ที่ทันสมัย และบ่งชี้ได้ถึงภาวะความผิดปกติในการทำงานตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขที่ทันท่วงที และหรือหาสาเหตุที่แท้จริงของการเจ็บป่วยนั้น ๆ ได้
- แนวทางเหล่านี้มีข้ออ้างอิงมาจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่น่าเชื่อถือได้
- เป็นเวชศาสตร์ป้องกันที่แท้จริง (Ultimate in Preventive medicine) ซึ่งมิใช่เวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive medicine) นั่นคือมิใช่เป็นเพียงแค่สุขศึกษาทั่ว ๆ ไป แบบทานอาหาร 3 มื้อ 5 หมู่ หรือสุขอนามัยสำหรับประชากรส่วนใหญ่ (Mass Health Education) เช่น การกำจัดยุงลาย การณรงค์ให้กินนมแม่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ฯลฯ แต่เป็นการคัดเลือกความรู้ทางสุขภาพที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลคนนั้น ๆ (Tailored-made or Customized health care) โดยพิจารณาจากผลการตรวจพันธุกรรม ภาวะฮอร์โมน ภาวะโภชนาการ และสุขภาพของเจ้าตัว เช่น บางคนอาจจะเหมาะสมกับการบริโภคอาหารสามมื้อต่อวัน บางคนอาจจะเหมาะกับห้ามื้อ บางคนเหมาะกับการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่บางคนอาจเหมาะกับการบริโภคคาร์โบไฮเดรตน้อย ๆ หรือบางคนอาจจะเหมาะสมกับการออกกำลังกายหนัก ๆ บางคนอาจจะต้องออกกำลังกายเบา ๆ หรือบางคนอาจจะต้องการได้รับวิตามินตัวนั้นตัวนี้เสริมเพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป เป็นต้น
เวชศาสตร์ชะลอวัย ไม่ใช่
- การฉีดโกร์ธฮอร์โมน เพื่อให้ร่างกายอ่อนเยาว์
- เวชศาสตร์ความงาม เวชศาสตร์เสริมสวย หรือศัลยกรรมตกแต่ง
- ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก
- เวชศาสตร์สุขภาพราคาแพง ที่เหมาะสำหรับกลุ่มชนชั้นสูงที่มีฐานะการเงินที่ดี
- บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อชุบตัวเป็นทองคำ ที่เพียงลงไปแล้วก็ส่งผลให้เนื้อตัวเป็นทอง หรือดูอ่อนกว่าวัยในทันที ดังนั้น หากมีคนมาสอบถามผู้เขียนว่าคนนั้นไปทำแอนไทเอจจิ้งอะไรมา ราคาสองล้านห้า แล้วดูเด็กอ่อนวัยในทันที ผู้เขียนก็คงจะตอบไปว่านั่นไม่น่าจะใช่แนวทางของเวชศาสตร์ชะลอวัยที่แท้จริง เพราะสุขภาพที่ดีไม่น่าจะมาจากอาหารเสริมแค่วันละเม็ดเดียว หรือฉีดสารวิเศษแค่เพียงเข็มเดียวดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั่นเอง
- การใช้สเต็มเซลล์แล้วทำให้ร่างกายกลายเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง
- การรับรอง หรือรับประกันว่าคุณจะมีอายุขัยที่ยืนยาวกว่าคนอื่นทั่ว ๆ ไป