ภาวะไทรอยด์ต่ำแฝง

ภาวะไทรอยด์ต่ำแฝง

คุณมีอาการต่อไปนี้หรือไม่

  • อ้วนง่าย
  • น้ำหนักลงยาก
  • ขี้เกียจ
  • ตื่นสาย
  • ง่วงนอนบ่อย
  • ขี้หนาว
  • ขี้หลงขี้ลืม
  • ท้องผูก
  • ผิวแห้ง
  • ตาบวม
  • นิ้วมือบวม

หากใช่เป็นส่วนใหญ่แล้วละก็  ข่าวร้ายก็คือคุณอาจจะเจอภาวะนี้เข้าให้แล้ว แต่ข่าวดีก็คือบทความข้างล่างนี้เป็นของคุณ !

ภาวะไทรอยด์ต่ำแฝงนี้เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในโลกสังคมปัจจุบัน และในศาสตร์ชะลอวัย ภาวะนี้ไม่จัดว่าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ แต่เป็นภาวะที่การทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนไม่เพียงพอใช้แก่ความต้องการเพื่อสมรรถภาพการทำงานอย่างสูงสุดของร่างกาย และก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ต่อมไทรอยด์จะโตหรือไม่โตด้วยเช่นกัน

ต่อมไทรอยด์ของเราอยู่บริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือก ในภาวะปกติมักคลำไม่ได้ และมองเห็นไม่ชัดเจน มีหน้าที่ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงานในเซลล์ การทำงานของระบบสมอง ดังนั้น เมื่อระดับของมันต่ำลงก็จะทำให้การเผาผลาญของร่างกายลดลง ทำให้น้ำหนักขึ้นง่าย และลดลงยาก พยายามควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายเพิ่ม น้ำหนักก็ลดลงไม่ได้สัดส่วนที่สมดุลเท่าไรนัก แล้วเผลอ ๆ ก็ไม่ค่อยอยากออกกำลังกายสักเท่าไรเพราะจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียไม่มีแรง ทำให้ตอนเช้า ๆ ก็มักจะตื่นสาย ตื่นแล้วก็รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วง ระหว่างวัน  สมองไม่มีพลังงานก็จะรู้สึกตื้อ ๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า ขี้หลงขี้ลืม มึน ๆ งง ๆ ไม่คล่องแคล่วว่องไว บางคนก็อาจจะมีอาการซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ โดยไม่มีสาเหตุ หรืออาจจะวิตกกังวลง่าย ตื่นเต้นง่ายก็ได้  ผิวพรรณก็มักจะแห้งลง หรือมีเปลือกตาบวม มือเท้าบวม บางทีก็มีปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นตามตัว มักเป็นหลังตื่นนอน ตอนสายๆ ก็หายไป ขี้หนาวบ่อย เพราะร่างกายเผาผลาญพลังงานให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายไม่ได้เพียงพอนั่นเอง ผมแห้งเปราะ ขาดง่าย เล็บฉีกขาดง่าย ลำไส้ไม่ค่อยทำงานก็มักจะมีอาการท้องผูกบ่อย บางรายอาจมีเสียงแหบ ในสตรีอาจพบว่ามีอาการประจำเดือนผิดปกติได้ด้วย

หากใครที่มีกลุ่มอาการดังกล่าวข้างต้นเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจจะตรวจเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดตรวจวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งในศาสตร์ชะลอวัยแล้วการตรวจวัดระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดนั้นเชื่อถือได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการตรวจวัดในปัสสาวะและน้ำลาย แต่เนื่องจากการตรวจอย่างหลังนั้นทำได้ยุ่งยาก ราคาสูงและยังทำไม่ค่อยได้ในเมืองไทย การตรวจในกระแสเลือดก็อาจจะพอช่วยบ่งชี้นำได้บ้าง ซึ่งในการตรวจนี้เราจะดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ทั้ง 2 ตัว นั่นคือ T3 และ T4 (ไทรอยด์ฮอร์โมนที่มีแร่ธาตุไอโอดีนเกาะอยู่ 3 และ 4 ตัวตามลำดับ) ซึ่งต่างจากการตรวจวัดโดยปกติทั่วไปที่ตรวจเฉพาะ T4 อย่างเดียว T4 เป็นฮอร์โมนที่สร้างเป็นส่วนใหญ่จากต่อมไทรอยด์ มีฤทธิ์ในการทำงานแบบอ่อน ๆ เมื่อเทียบกับ T3 ซึ่งสร้างออกมาจากต่อมน้อยกว่า แต่มักถูกสร้างเป็นส่วนใหญ่จากเนื้อเยื่อทั่วร่างกายโดยการเปลี่ยน T4 เป็น T3 (โดยการตัดแร่ธาตุไอโอดีนออก 1 ตัว) T3 เป็นตัวที่มีฤทธิ์มากที่สุด คือเป็นฮอร์โมนที่พร้อมใช้งานทันที ดังนั้นการตรวจโดยทั่วไปที่ตรวจเฉพาะ T4 อาจได้ค่าปกติ (นั่นคือต่อมไทรอยด์ยังสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ) แต่ในภาวะไทรอยด์ต่ำแฝงนั้น เราพบว่า T3 มีระดับที่ค่อนข้างต่ำเกือบจะผิดปกติ เพราะว่าร่างกายไม่สามารถเปลี่ยน T4 ให้เป็น T3 ได้นั่นเอง ซึ่งสภาวะนี้พบได้บ่อยในชีวิตสังคมปัจจุบัน

สาเหตุที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยน T4 เป็น T3 ไม่ได้นั้น เป็นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเครียด (ซึ่งพบได้บ่อยเลยทีเดียว) การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินเอ บี2 บี6 บี12 การขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น ซีลีเนียม สังกะสี เหล็ก โพแทสเซียม ไอโอดีน การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (สาเหตุนี้ก็พบได้บ่อย กล่าวคือคนไข้เคยมีประวัติอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งในช่วงแรกก็ลดลงดี แต่พอทำซ้ำอีกในครั้งหลัง ๆ รู้สึกว่าน้ำหนักไม่ลดลงเลย) ทานอาหารแคลอรี่ต่ำอยู่เป็นประจำ ได้รับสารอาหารเสริมในกลุ่มโปรตีน แคลเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง หรือ อัลฟาไลโปอิกแอซิด มากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์จัด ภาวะโลหะหนักปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม (ซึ่งอาจปนเปื้อนมาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันปลาคุณภาพต่ำ) หรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น ไดออกซิน พีซีบี ทาเลต ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงโรคเรื้อรังต่าง ๆ การผ่าตัด ฉายแสง หรือให้เคมีบำบัดและยาบางชนิด ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตในปัจจุบันล้วนล่อแหลมต่อการกดการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนทั้งสิ้น ภาวะนี้จึงตรวจพบได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งในบางแห่งก็พบว่ามีอุบัติการณ์ของภาวะนี้ได้ถึง 65-80% เลยทีเดียว โดยประสบการณ์ส่วนตัวของหมอ พบว่าคนไข้มาปรึกษาด้วยปัญหาของน้ำหนักเกินและตรวจพบเจอภาวะนี้ได้เกินครึ่งเลยทีเดียว

หากตรวจพบว่า เจ้าตัวมีภาวะไทรอยด์ต่ำแฝงนี้แล้วละก็ การดูแลรักษาก็คือการให้ไทรอยด์ฮอร์โมนเสริม ซึ่งเป็นคนละรูปแบบกับยาไทรอยด์ฮอร์โมนในโรคของต่อมไทรอยด์ (ซึ่งก็คือ T4 หรือ Eltroxin) ซึ่งการให้ยาตัวนี้มักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จดังที่ต้องการ อาจเป็นเพราะร่างกายก็เปลี่ยนเป็น T3 ไม่ได้อีกเช่นเดิม ดังนั้นในศาสตร์ของแพทย์ชะลอวัยจึงให้ฮอร์โมนเสริมในรูปของ T3 ผสมกับ T4 ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจกว่า ร่วมกับการปรับสมดุลชีวิตประจำวัน การให้อาหารเสริม การล้างสารพิษ การบำบัดความเครียด เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่ส่งเสริมการกระตุ้นให้ร่างกายเปลี่ยน T4 เป็น T3 ให้ได้นั่นเอง ซึ่งในประสบการณ์ส่วนตัวของหมอพบว่าหลายคนที่สูญเสียเงินไปจำนวนไม่น้อยกับการลดน้ำหนัก หรือเครื่องมือลดน้ำหนักอีกหลากหลายและไม่เป็นผลนั้น หากตรวจพบภาวะนี้และทำการแก้ไขที่ต้นเหตุของเจ้าปัญหาอย่างถูกทางแล้วละก็ จะทำให้การควบคุมน้ำหนักได้ผลดีกว่า และยั่งยืน แล้วยังได้คุณภาพชีวิตที่ดีในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปอีกด้วย ในส่วนราคาที่ประหยัดกว่าอีกมากมาย แล้วเขาเหล่านั้นก็จะบอกเลิกบอกลาวิธีการลดน้ำหนักหรือเครื่องมือต่าง ๆ  ได้อย่างมั่นใจเลยทีเดียว!!!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *