ภาวะแพ้อาหารแฝง
ใครเลยจะคิดว่าอาหารที่เราทานเป็นปกติอยู่ทุกวันนี้ เพียงเพื่อหวังที่จะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ค่อยจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไรแล้ว ยังมีมลพิษ มลภาวะสารเคมีต่าง ๆ ปนเปื้อนเข้ามามากมาย ที่คอยกัดกร่อน บั่นทอนสุขภาพของเราอีก แต่กลับอาจจะก่อให้เกิดการกระตุ้นภาวะภูมิคุ้มกันของเรา และนำมาสู่ปัญหาสุขภาพอีกหลายอย่างที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย
เมื่อพูดถึงภาวะแพ้อาหาร หลายคนอาจจะเข้าใจความหมายของภาวะแพ้อาหารโดยทั่วไป ที่บริโภคสารที่แพ้แล้วเกิดผื่นบวม คัน เป็นลมพิษ หรือหอบหืด ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้เกิดจากเม็ดเลือดขาวของเราที่ทำหน้าที่คล้ายทหาร คือคอยตรวจตราสอดส่องดูแลว่าใครเป็นสิ่งแปลกปลอม ข้าศึก ผู้ร้าย ศัตรู แล้วทำการขจัดทำลายเสีย ซึ่งปกติก็เป็นพวกเชื้อโรคเป็นส่วนใหญ่ แต่ในกรณีนี้ เม็ดเลือดขาวกลับมองอาหารที่เราทานเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอม และเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งโดยปกติแล้วปฏิกิริยาต่อต้านเหล่านี้ เม็ดเลือดขาวก็มักจะตอบสนองโดยการสร้างสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ซึ่งเป็นสารกลุ่มโปรตีนที่เราเรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin ย่อเป็น Ig) ซึ่งมีหลากหลายชนิดและมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป เช่น
- IgA
- IgG
- IgE
- IgS
- IgM
(หากเปรียบเทียบเจ้าอิมมูโนโกลบูลินนี้เหมือนเป็นอาวุธของทหาร ก็มีอาวุธที่หลากหลาย และแสนยานุภาพของอาวุธแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป เช่น ปืน ธนู มีด ดาบ ระเบิด เป็นต้น)
ในปฏิกิริยาแพ้อาหารที่หลายคนคุ้นเคย หรือเรียกในที่นี้ว่าแพ้อาหารจริง (ยกตัวอย่างเช่น คนที่แพ้กุ้ง กินแล้วเป็นผื่นลมพิษ ปากบวมเจ่อ) การแพ้แบบนี้เกิดจากปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวที่มีต่ออาหารแล้วหลั่งสารอิมมูโนโกลบูลินชนิด อี (IgE) ซึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) อีกต่อหนึ่ง เจ้าสารฮิสตามีนนี้เองที่มีผลทำให้หลอดเลือดขยาย น้ำจากหลอดเลือดรั่วซึมออกมา เกิดอาการเป็นผื่นบวมน้ำ นูน แดง คัน (เรียกว่า ลมพิษ) หรือมีอาการจาม หลอดลมตีบ หอบหืด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากที่สัมผัสหรือทานสารที่แพ้นั้นไม่นาน (โดยปกติปฏิกิริยาการแพ้ชนิดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 1-12 ชั่วโมง) อาการแพ้แบบนี้บรรเทาด้วยยาแอนติฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ที่หลายคนคุ้นเคยนั่นเอง การแพ้ชนิดนี้เจ้าตัวมักจะรู้ว่าแพ้อะไร เนื่องจากจะมีอาการปรากฏให้เห็นเด่นชัดทุกครั้งที่ทานอาหารชนิดนั้น ๆ จึงมักจะเลี่ยงที่จะไม่ทาน และจำนวนที่แพ้มักมีไม่กี่รายการ ในบางครั้งสารที่แพ้อาจจะไม่ได้เกิดจากการทานเข้าไป เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ตัวไรในฝุ่น สารเคมี สารระเหย หลายคนก็เลยอาจจะไม่ทันสังเกตว่าสารใดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ของตน ก็อาจจะต้องใช้วิธีตรวจสอบทางผิวหนัง โดยนำกลุ่มของสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องสงสัยหลากหลายชนิด มาแปะไว้บนผิวหนังของคนไข้ แล้วสังเกตอาการผื่นแพ้ บวมนูนแดงคันที่เกิดขึ้นรอบ ๆ สารที่สงสัยนั้น ก็จะได้เป็นแนวทางในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น เพราะการแพ้แบบนี้มักไม่หายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่ ต้องหลีกเลี่ยงสารที่แพ้เท่านั้น การรักษาก็เป็นไปตามอาการ ให้พอทุเลาเท่านั้น
แต่สำหรับการแพ้อาหารแฝงนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (Immunoglobulin G: IgG) ซึ่งสารแอนติบอดีนี้ไม่ทำให้เกิดการหลั่งสารฮิสตามีนเหมือนการแพ้อาหารจริง จึงทำให้ไม่เห็นปฏิกิริยาของผื่นลมพิษที่ผิวหนัง หรืออาการทางเยื่อบุปากหรือทางเดินหายใจบวม บางคนจึงไม่ถือว่าปฏิกิริยานี้เป็นการแพ้ ดังนั้นเมื่อไม่มีผื่นแสดงให้เห็นชัดเจน คนไข้หลายคนจึงไม่ทราบว่าเจ้าตัวแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ เมื่อบริโภคเข้าไป เม็ดเลือดขาวก็ทำการสู้รบกับอาหารเหล่านั้นในลำไส้อย่างเงียบ ๆ ซึ่งอาการแสดงทางระบบทางเดินอาหารอาจไม่มากมายหรือเด่นชัดเท่าไรนัก เช่น ท้องอืด จุกเสียด มีลมในท้องเยอะ ท้องผูก หรือท้องเสียก็ไม่ชัดเจน แต่จะแสดงออกทางระบบอื่น ๆ ได้มากมาย อาทิเช่น เหนื่อย อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ มึนงง ความจำไม่ดี สมาธิสั้น และภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยรวมก็จะทำงานแย่ลง (เพราะมัวแต่ต้องมาคอยรบกับอาหารที่ลำไส้เปรียบเสมือนมีการชุมนุมกันที่ราชประสงค์ ตำรวจ ทหารต่าง ๆ ต้องมาคอยดูแลการชุมนุมในบริเวณที่ใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ โจรขโมยตามบ้านเรือนต่าง ๆ ก็มีมากกว่าปกติ เพราะการตรวจตราดูแลไม่สามารถทำได้ทั่วถึงนั่นเอง)
คนไข้อาจมีผื่นแพ้ที่ผิวหนังแบบไม่รู้สาเหตุ แพ้โน่น นี่ นั่น ไร้สาระเรื่อยเปื่อย แม้แต่เครื่องสำอางที่ใช้ประจำสม่ำเสมอมาเป็นเวลานานก็อาจมีปฏิกิริยาแพ้ไปด้วย บางคนอาจเป็นสิวเรื้อรังไม่หายขาด แม้จะเลยวัยรุ่นไปจนหมดประจำเดือนแล้วก็ยังมีสิว และมักรักษาหายยาก หรือบางคนอาจมีอาการของโรคผิวหนังอักเสบคล้ายรังแค (Seborrheic Dermatitis) บางคนอาจมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจนทำลายตนเอง กลายเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น เอสแอลอี (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (RA) หรือสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะนี้เกี่ยวข้องกับการอ้วนเรื้อรังโดยไม่รู้สาเหตุอีกด้วย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าตัวมักไม่ทราบว่าแพ้อาหารใดก็เพราะว่าการแสดงปฏิกิริยาต่ออาหารนั้น ๆ อาจใช้เวลาตั้งแต่ 24-72 ชั่วโมง (เกือบ 1-3 วัน) ภายหลังจากที่บริโภคอาหารชนิดนั้นไป
ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดจากภาวะแพ้อาหารแฝง อาหารที่เป็นผู้ต้องหาน่าจะเป็นต้นเหตุได้ตั้งแต่อาหารที่เราทานในวันนี้ย้อนหลังไปจนถึงเมื่อวานซืน ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าตัวมักจำไม่ได้ และนอกจากนี้ อาหารที่แพ้อาจมีจำนวนมากมายหลายชนิด และเจ้าตัวมักจะทานอาหารที่แพ้เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ง่ายนักที่จะทราบว่าอาหารชนิดใดเป็นต้นเหตุ อีกทั้งการทดสอบการแพ้โดยวิธีทดสอบทางผิวหนังแบบทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบภาวะแพ้แบบนี้ได้ ต้องทำการทดสอบโดยวิธีการเฉพาะที่ใช้เลือดของคนไข้ตรวจสอบกับสารอาหารหลากหลายชนิด แล้วดูปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวต่ออาหารชนิดนั้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยและนำพาไปสู่การรักษาได้ เพราะการแพ้อาหารแบบนี้ เจ้าตัวเพียงแต่งดบริโภคอาหารที่แพ้เหล่านั้นสักระยะหนึ่ง (ประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาหารชนิดนั้น) ก็สามารถกลับมาบริโภคใหม่ได้ โดยไม่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอีกเลย (แต่อาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะแพ้อาหารแฝงมักจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายหลังจากที่คนไข้งดหรือหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่แพ้อย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์ เช่น ผิวหนังมีคุณภาพดีขึ้น สิวยุบลง น้ำหนักตัวลดลง และหากคนไข้บริโภคอาหารที่ตนเองแพ้แม้แต่ 1 รายการ หรือจำนวนเล็กน้อย อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะกลับมาแสดงให้เห็นทันที)
ในปัจจุบัน เราพบว่าพฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตทำให้คนส่วนใหญ่มีภาวะแพ้อาหารแฝงมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอาการผิดปกติต่าง ๆ หรือโรคภัยไข้เจ็บที่มักหาสาเหตุได้ยาก และการรักษาก็เป็นไปตามอาการเท่านั้น แต่ในศาสตร์ชะลอวัย เราพบว่าเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะแพ้อาหารแฝงแล้ว อาการต่าง ๆ เหล่านี้มักดีขึ้น และพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างภาวะนี้กับสาเหตุของการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่อธิบายหรือหาสาเหตุไม่ได้เช่นเดียวกัน