ภาวะลำไส้รั่วซึม (Leaky Gut Syndrome)

ภาวะลำไส้รั่วซึม (Leaky Gut Syndrome)

หากคำกล่าวที่ว่า ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ เป็นคำกล่าวสุภาษิตโบราณเชย ๆ ที่ยังใช้ได้ดีแล้วละก็ ลำไส้ของมนุษย์เราก็เปรียบเทียบได้กับรากของต้นไม้ดี ๆ นี่เอง เพราะรากของต้นไม้ที่ดีก็จะดูดซึมสารอาหารดี ๆ สู่ลำต้น และส่งผลให้ดอก ใบ ผล เจริญเติบโตงอกงาม ในทางตรงกันข้ามหากรากของต้นไม้นั้นเน่าแล้วไซร้อย่าหวังที่จะได้เห็นการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงในระยะยาว

ลำไส้ของมนุษย์เราก็เฉกเช่นเดียวกัน มันทำหน้าที่ที่สำคัญในการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ที่เราบริโภคเข้าไปสู่ร่างกาย และยังทำหน้าที่สำคัญในการเป็นปราการแบ่งแยกสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายใน คัดกรองสารพิษหรือสารเคมีต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายของเราอีกด้วย เปรียบเหมือนเป็นตม. ที่สนามบิน อาหารที่เราทานผ่านปากเข้าไปก็เหมือนกับเครื่องบินที่บินผ่านเข้าน่านฟ้าประเทศนั้น ๆ แต่ผู้โดยสารในเครื่องบินลำนั้นจะเข้าประเทศนั้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสามารถผ่านการตรวจตราที่ตม. ได้หรือไม่นั่นเอง

หากลำไส้เกิดทำงานผิดพลาดไม่สามารถแยกแยะการดูดซึมหรือคัดกรองสารอาหารหรือสารพิษต่าง ๆ ในการเข้าสู่ร่างกายก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ ซึ่งเราเรียกภาวะความผิดปกติแบบนี้ว่า Leaky Gut Syndrome ซึ่งเราจะเรียกว่าลำไส้รั่วก็ไม่น่าจะใช่ เพราะฟังดูคล้ายลำไส้เป็นรูทะลุ (ซึ่งแบบนี้ต้องไปให้หมอศัลยกรรมทำการผ่าตัดเย็บซ่อมรูโดยด่วน มิฉะนั้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้) หรือจะเรียกว่าลำไส้ซึมก็ไม่เชิง (เพราะฟังดูคล้ายลำไส้มีอาการทางจิตไปเสียแบบนั้น) เอาเป็นว่าหมอขอเรียกภาวะนี้รวมกันว่า ภาวะลำไส้รั่วซึม เลยดีกว่าแล้วกันน่าจะสื่อความหมายได้ตรงประเด็นที่สุด ภาวะนี้จัดเป็นภาวะการทำงานผิดปกติอย่างหนึ่งของลำไส้ (Functional change) ที่ยังไม่ได้จัดว่าเป็นโรค (Disease) ซึ่งพบว่าก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง หรือความผิดปกติอื่น ๆ หลายอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

พยาธิสภาพของภาวะลำไส้รั่วซึมนี้ เกิดจากเซลล์ผนังลำไส้ซึ่งปกติเรียงตัวชิดติดกันอย่างเหนียวแน่น เหมือนกำแพงเมืองจีน เกิดการอักเสบของเซลล์ ทำให้เซลล์บวม ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารในภาวะปกติแย่ลง เจ้าตัวจึงอาจมีอาการขาดสารอาหารบางชนิดได้ และที่สำคัญก็คือ รอยต่อระหว่างผนังเซลล์ (TIGHT JUNCTION และ GAP JUNCTION) ที่ปกติจะเป็นตัวล็อคเซลล์ไว้ด้วยกันเพราะเซลล์บวมอักเสบนั่นเอง ก็เกิดปัญหาในการแยกออกจากกัน และเกิดเป็นช่องว่างทำให้สารพิษ หรือสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งปกติไม่เคยผ่านเข้าได้ ก็สามารถเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายเรา และทำให้เกิดอาการของสารพิษตกค้างสะสมในเซลล์ของร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ร่างกายทำงานแปรปรวน เช่น

  • อาการเหนื่อย 
  • อ่อนเพลีย 
  • สมองมึนงง 
  • ฮอร์โมนผิดปกติ

หรือสารเหล่านั้นอาจจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเราจนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแปรปรวน เกิดเป็นผื่นแพ้ ผื่นไร้สาระ หรือผื่นแพ้เครื่องสำอางต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่เคยใช้เครื่องสำอางนั้นอยู่เป็นประจำมาก่อน ผื่นสิวเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ที่รักษาไม่ค่อยหายขาด หรือแม้กระทั่งระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาด ไปทำร้ายทำลายตัวเอง กลายเป็นโรคในระบบภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune disorder) เช่น Systemic Lupus Erythematosus(SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งโรคหลายอย่างแบบนี้ ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่นอน และการรักษาก็ยังได้แค่ระงับหรือทุเลาอาการ และยังไม่มีวี่แววว่าจะหาวิธีใดรักษาให้หายขาดได้

แต่ในทางศาสตร์ชะลอวัยเชื่อว่า โรคทั้งหลายที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ น่าจะมีต้นเหตุของภาวะลำไส้รั่วซึมไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเมื่อทำการรักษาภาวะลำไส้รั่วซึมนี้ให้ดีขึ้น ก็พบว่าอาการของโรคทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นก็ทุเลาขึ้น หรือลดความรุนแรงของโรค และการใช้ยาของแพทย์แผนปัจจุบันลง โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนการรักษาแบบเดิม ๆ เลย นอกจากโรคหรืออาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว เรายังพบว่าโรคหรือภาวะเพิ่มเติมต่อไปนี้ที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะลำไส้รั่วซึมได้ด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ 

  • ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบคล้ายรังแค (Seborrheic dermatitis) 
  • โรคอ้วน 
  • โรคหอบหืด 
  • สมาธิสั้น 
  • Multiple sclerosis
  • Addison’s disease

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ สถานที่เกิดเหตุที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ ก็คือลำไส้นั้น ไม่ค่อยจะแสดงอาการชัดเจนเท่าไรนัก อย่างมาก ก็แค่

  • มีอาการจุกเสียด 
  • ท้องอืด 
  • ท้องเฟ้อ 
  • เรอ 
  • มีลม 
  • มีแก๊สมาก 
  • ผายลมบ่อย 

หรืออาจจะไม่มีอาการใดๆ เลย แต่อาการที่แสดงออกกลับมีมากที่อวัยวะอื่น จึงทำให้แพทย์แผนปัจจุบันมุ่งเน้นหาสาเหตุหรือรักษาในบริเวณที่แสดงอาการตรงนั้น เช่น ผิวหนัง (จึงอาจหาอะไรไม่เจอ) และเมื่อรักษาบริเวณลำไส้ให้ภาวะรั่วซึมทุเลาหรือดีขึ้น เราก็พบว่าอาการของโรคเหล่านั้นกลับดีขึ้น โดยที่โรคนั้นอาจยังไม่ได้รักษา หรือคงการรักษาแบบเดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

เหตุเพราะเซลล์ผนังลำไส้นั้นเรียงตัวกันเป็นเซลล์ชั้นเดียวบาง ๆ ดูบอบบางมาก ไม่เหมือนกับเซลล์ผิวหนังที่ยังเรียงตัวกันหลายชั้น ดังนั้น ปัจจัยหลากหลายอย่างจึงมีผลกระทบทำให้เซลล์ผนังลำไส้เกิดการอักเสบ บวม และเกิดภาวะลำไส้รั่วซึมได้ง่าย เช่น 

 

  • ความเครียด 
  • การอดนอน 
  • การขาดสารอาหาร 
  • การบริโภคสารน้ำตาลมาก ๆ 
  • การสูบบุหรี่ 
  • การดื่มสุรา 
  • การทานยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวดแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs นาน ๆ 
  • สารพิษสารเคมียาฆ่าแมลงสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาในน้ำและอาหาร 
  • ภาวะลำไส้อักเสบติดเชื้อ 
  • การแพ้อาหารแฝง 
  • การทานยาลดกรดพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น 
  • การขาดน้ำย่อยจากตับอ่อน 
  • ความเร่งรีบในการทานอาหาร 
  • การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด 
  • ภาวะยีสต์ในลำไส้ 

เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เราพบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวันของเรา จึงไม่แปลกนักที่เราจะพบภาวะลำไส้รั่วซึมได้บ่อยในมนุษย์สังคมปัจจุบัน

ซึ่งภาวะนี้ไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจโรคระบบทางเดินอาหารแบบแพทย์แผนปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกัน เช่น การส่องกล้อง กลืนแป้ง หรือสวนแป้ง แล้วถ่ายภาพรังสี เพราะภาวะนี้ไม่ได้มีความผิดปกติของลำไส้ที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่เป็นการทำงานผิดปกติ จึงต้องตรวจการทำงานของลำไส้ในการดูดซึม โดยการตรวจวิธี Lactulose-Mannitol test การตรวจนี้จะให้คนไข้กลืนน้ำตาล 2 ชนิดที่มีขนาดโมเลกุลไม่เท่ากัน แล้วเก็บปัสสาวะของคนไข้ไปตรวจหาน้ำตาลชนิดนั้น ๆ ภายหลังจากที่ดื่มน้ำตาลเข้าไปแล้ว โดยปกติ น้ำตาล Lactulose เป็นน้ำตาลที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ มักจะไม่ผ่านการดูดซึมโดยผนังลำไส้ในภาวะปกติได้ จึงมักจะตรวจไม่พบในปัสสาวะของคนไข้ภายหลังจากที่ดื่มไปแล้ว ดังนั้นหากตรวจพบเจอน้ำตาลชนิดนี้ ก็แสดงว่าต้องมีภาวะรั่วซึมของผนังลำไส้แน่นอน ส่วนน้ำตาล Mannitol เป็นน้ำตาลที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก ซึ่งในภาวะลำไส้ปกติ ก็จะสามารถดูดซึมผ่านเข้าผนังลำไส้และตรวจพบในปัสสาวะได้หลังจากดื่มเข้าไป ซึ่งในภาวะลำไส้รั่วซึมนี้ การดูดซึมของลำไส้จะลดลงเนื่องจากเซลล์อักเสบและบวม จึงจะตรวจพบปริมาณน้ำตาลชนิดนี้ในปัสสาวะลดน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ได้

สำหรับการรักษาภาวะนี้นั้น จะมีโปรแกรม 4R Program ได้แก่

  • Remove คือ การลดหรือกำจัดต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วซึมต่าง ๆ
  • Replace คือ การให้สารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหารให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เช่น กรดไฮโดรคลอริก น้ำย่อยชนิดต่าง ๆ และสมุนไพรที่ช่วยการทำงานของลำไส้
  • Repopulate คือ การเสริมสร้างแบคทีเรียชนิดดี และอาหารของมัน เพื่อเป็นเสมือนทหารชั้นดีที่คอยปกป้องและป้องกันแนวกำแพงผนังลำไส้ให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • Repair คือ การให้สารอาหารหลากหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นฟูผนังลำไส้ให้กลับคืนสภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรงดังเดิม 

ซึ่งแพทย์ที่ศึกษาทางด้านศาสตร์ชะลอวัยนี้จะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดีที่สุดเลยทีเดียว

ดังนั้น ต่อจากนี้ไป หลายคนที่มัวแต่ใส่ใจอวัยวะสำคัญ ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต หรือผิวหนัง อย่าลืมนะครับว่าลำไส้เป็นอวัยวะซ่อนเร้นที่หลายคนมักลืม แต่มีบทบาทที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะข้างต้น ก็ต้องการการดูแลใส่ใจให้แข็งแรงด้วยเช่นเดียวกัน แล้วฉบับหน้าจะมาเล่าถึงปัญหาต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาลำไส้รั่วซึมที่สำคัญและเจอบ่อยที่สุด โดยที่หลายคนไม่ทราบและคาดไม่ถึง นั่นก็คือภาวะแพ้อาหารแฝงนั่นเองครับ โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *